ใบสั่งออนไลน์ ต้องจ่ายไหม จ่ายที่ไหน ถ้าไม่จ่ายจะโดนอะไรบ้าง

ในยุคที่โลกเข้าสู่สังคมอิเล็กทรอนิก และการมาถึงของสมองกลอัจฉริยะ หรือ AI ทำให้ทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนต้องปรับตัวในการทำงาน โดยเฉพาะการให้บริการประชาชนของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดรัฐบาลเองก็เริ่มมีเปิดให้บริการประชาชนหลายอย่างที่อำนวยความสะดวกด้วยบริการที่สามารถทำเองผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่บ้าน หนึ่งนั้นคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้รถได้เข้าไปค้นหา ใบสั่งออนไลน์ หรือ e-Ticket ได้ทางช่องทางออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ ptm.police.go.th ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่า มีใบสั่งจราจรค้างจ่ายอยู่กี่ใบ พร้อมให้ผู้ขับขี่สามารถดำเนินการชำระค่าปรับผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วย

อัปเดต! กฎ e-Ticket ใบสั่งออนไลน์

จากกรณีที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้แแถลงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรให้เข้มงวดมากขึ้น และจัดการกับผู้ขับขี่ที่ไม่ได้ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลา กระทั่งนำไปสู่การถูกออกหมายจับ ปรากฎว่าในปัจจุบันมีผู้กระทำผิดกฎจราจรจำนวนมากที่ไม่ไปชำระค่าปรับดังกล่าว โดยบุคคลเหล่านี้ยังคงมีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายจราจรซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและปัญหาการจราจรติดขัด โดยมาตราการดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2565 เรื่อยมา ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบย้อนหลังใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความได้ (อายุความ 1 ปี) โดยจะเน้นเข้มงวดกับกรณีกระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายซ้ำซาก

อย่างไรก็ตามยังคงมีประชาชนบางส่วนไม่ทราบว่าตนเองได้รับใบสั่งจราจร ไม่ว่าจะเป็นกรณีเปลี่ยนบ้านที่อยู่, กรณีซื้อขายรถยนต์ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้โอนรถเป็นชื่อของเจ้าของใหม่, และกรณีอื่นๆ หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปจ่ายค่าปรับด้วยตัวเองได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบใบสั่งออนไลน์ได้ทาง เว็บไซต์ ptm.police.go.th ที่จะแสดงประวัติหากชื่อเจ้าของรถตามทะเบียนได้รับใบสั่งจราจร สามารถตรวจสอบการค้างชำระค่าปรับ และดำเนินการชำระเงินค่าปรับได้ด้วย

เช็คใบสั่งออนไลน์อย่างไร

วิธีการ ตรวจสอบใบสั่งออนไลน์ สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้

1.) เข้าเว็บไซต์ใบสั่งออนไลน์

เข้าหน้า e-Ticket - ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ ptm.police.go.th ที่มีตราของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (Royal Thai Police) ปรากฎขึ้นชัดเจนที่หน้าเว็บ

2.) ลงทะเบียนเพื่อเริ่มต้นใช้งาน

ไปที่ตัวเลือก ‘ลงทะเบียนใช้งาน’ ที่ด้านล่าง และไปยังหน้าลงทะเบียนผู้ใช้งานเว็บไซต์ ให้เตรียมหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขใบขับขี่ หรือหมายเลขทะเบียนรถ เพื่อใช้ในการลงทะเบียนผู้ใช้

3.) ตั้งรหัสผ่าน

รอรับ Validation Code เพื่อลงทะเบียนผู้ใช้งาน พร้อมตั้งรหัสผ่าน (password) ให้เรียบร้อย

4.) เข้าสู่ระบบใบสั่งออนไลน์

ดำเนินการเข้าสู่ระบบอีกครั้ง โดยไปที่หน้าแรกของเว็บไซต์ แล้วใส่หมายเลขบัตรประชาชน กับรหัสผ่านที่ตั้งไว้

5.) ค้นหา e-Ticket ใบสั่งออนไลน์

ให้ทำการค้นหาใบสั่งออนไลน์ ด้วยระบุวันที่กระทำผิด แล้วที่ไปปุ่ม ‘ค้นหา’ เพียงเท่านั้นก็สามารถกรองข้อมูลการค้นหาได้ด้วยการระบุหมายเลขทะเบียนรถ หรือหมายเลขใบสั่งได้ โดยหลังกดค้นหา หน้าจอจะปรากฏรายการใบสั่งที่เคยได้รับ ให้คลิกดูรายละเอียดของใบสั่งแต่ละฉบับได้ จากนั้น ให้ดำเนินการชำระค่าปรับออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ ที่เปิดให้บริการ หรือเดินทางไปชำระค่าปรับด้วยตนเอง

Tip : กรณีได้รับใบสั่งจากรถมากกว่า 1 คัน รายการของใบสั่งออนไลน์จะปรากฏรายการทั้งหมดภายใต้ชื่อผู้ครอบครองรถคนเดียวกัน

เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้นจนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรายการใบสั่งจราจรที่ออกให้กับผู้ใช้งาน หากยังมีใบสั่งจราจรค้างชำระเหลืออยู่ หน้าจอจะแสดงรายละเอียดของใบสั่งจราจรนั้นๆ เช่น สถานที่และเวลาเกิดเหตุ, ข้อหาที่กระทำความผิด, ค่าปรับที่ต้องชำระ ไปจนถึงโทษปรับทางอาญา (หากมี)

ใบสั่งออนไลน์ จ่ายที่ไหนได้บ้าง

ช่องทางการชำระเงินค่าปรับใบสั่งออนไลน์มีดังนี้

  • ชำระค่าปรับทางช่องทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นโมบายแบงค์กิ้ง Krungthai NEXT ของธนาคารกรุงไทย
  • ชำระที่สถานีตำรวจภายในพื้นที่บ้าน
  • ชำระผ่านสาขาต่างๆ ของธนาคารกรุงไทย ที่สะดวกเดินทาง
  • ชำระผ่านตู้ ATM หรือตู้ ADM ของธนาคารกรุงไทย
  • ชำระผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา
  • ชำระผ่านจุดรับชำระเงิน เช่น ตู้เติมบุญ หรือ CenPay เป็นต้น

E-Ticket ใบสั่งออนไลน์ ทำอะไรได้บ้าง

ระบบ E-Ticket ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน สามารถทำอะไรได้มากกว่าใบสั่งแบบเดิม ดังนี้

  • ตรวจสอบใบสั่งจราจรออนไลน์ได้
  • แสดงประวัติการได้รับใบสั่งจราจรย้อนหลัง
  • ดูใบสั่งย้อนหลังสำหรับใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ ระยะเวลา 1 ปี
  • ตรวจสอบการค้างชำระค่าปรับจราจร
  • จ่ายค่าปรับทางออนไลน์ได้ทันที
  • สามารถโต้แย้งใบสั่งหากเราไม่ได้กระทำผิดได้

ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทาง Facebook และ X (Twitter) 1197 สายด่วนจราจร

อ่านเพิ่มเติม >>> กฎหมายจราจรใหม่ 2566 เช็คคะแนนใบขับขี่จ่ายค่าปรับออนไลน์ ถ้าไม่จ่ายจะโดนอะไรบ้าง

ใบสั่งออนไลน์ ต้องจ่ายไหม ถ้าไม่จ่ายจะโดนอะไรบ้าง

กรณีได้รับใบสั่งออนไลน์ ต้องชำระค่าปรับภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ออกใบสั่ง หากไม่ตอบรับภายใน 15 วัน มีสิทธิ์โดนออกหมายเรียก หรือหากผู้กระทำผิดเพิกเฉยต่อใบสั่งจราจร 2 ครั้งติด เจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิ์ที่จะส่งเรื่องยื่นคำร้องขออนุมัติหมายจับ และเจ้าพนักงานจะทำการอายัดทะเบียนรถ พร้อมแจ้งข้อหาเพิ่ม คือข้อหาไม่มารายงานตัวภายในเวลาที่กำหนด เปรียบเทียบปรับไม่เกิน 1,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >>> ไม่จ่ายค่าปรับจราจร ต่อภาษีไม่ได้ แถมโดนตัดแต้มจราจร

ไม่จ่ายค่าปรับจราจร ต่อภาษีรถยนต์ได้มั้ย

เงื่อนไขใหม่ที่ออกมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ทางกรมขนส่งทางบกระบุไว้ว่า หากไม่จ่ายค่าปรับจราจรตามที่กำหนดสามารถต่อภาษีประจำปีได้ แต่นายทะเบียนจะไม่ออกป้ายภาษีตามปกติให้ โดยจะออกป้ายภาษีชั่วคราวมาแทน ซึ่งมีอายุ 30 วัน

ไม่จ่ายค่าปรับจราจร มีโอกาสโดนพักใบขับขี่มั้ย

กรณีไม่จ่ายค่าปรับจราจรมีโอกาสทำให้โดนพักใช้ใบขับขี่ได้ เพราะอาจทำให้ถูกตัดคะแนนใบขับขี่ได้ตั้งแต่ 1-3 คะแนน จากการไม่จ่ายค่าปรับตามกำหนด และรูปแบบการกระทำความผิดตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยทุกคนมีคะแนนติดตัว 12 คะแนน หากถูกตัดคะแนนจนหมด จะถูกพักใบขับขี่อย่างต่ำ 90 วัน และต้องเข้ารับการอบรมกับกรมการขนส่งทางบกตามระเบียบ

สรุป การเคารพกฎจราจรเป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถทุกคนต้องให้ความสำคัญ แต่เมื่อเราทำผิด การจ่ายค่าปรับ ใบสั่งออนไลน์ คือเงื่อนไขที่ทุกคนควรเคารพ หากฝ่าฝืนจะมีทั้งเพิ่มโทษ เสียทั้งเงินและประวัติความประพฤติ ทางที่ดีที่สุดคือการขับขี่และใช้รถใช้ถนนอย่างมีสติ ไม่ฝ่าฝืนกฎ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวเองและผู้ร่วมทางทุกคน

สำหรับใครที่อยากซื้อ-ขาย-เทิร์น จบในที่เดียว CARS24 มีรถมือสองให้เลือกกว่า 1,000 คัน พร้อมให้บริการจัดไฟแนนซ์รถมือสอง จะเลือกซื้อหรือขายรถผ่านเว็บไซต์ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นได้ที่ App Store และ Google Play สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.02 028 7428 ติดต่อได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00-18.00 น.